สืบสานตำนานเล่าขาน สยามมกุฎราชกุมาร เมืองไทย ตอนที่ 3

สืบสานตำนานเล่าขาน
สยามมกุฎราชกุมาร เมืองไทย 
ตอนที่ 3

พระฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ที่ถนนราชดำเนิน

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นพระราชโอรสพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นสยามมกุฎราชกุมาร พระองค์ที่ 3 ของไทย รองจาก สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ กรมขุนเทพทวาราวดี (ต่อมา คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 6) และ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ 

หลังพระบิดาสวรรคตเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 เป็นที่คาดหมายว่า พระองค์จะสืบราชสมบัติต่อ ทั้งพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ยืนยันว่า จะทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ แต่ทรงขอผ่อนผัน พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี จึงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์โดยตำแหน่งไปพลางก่อน

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ มีพระนามเมื่อแรกประสูติว่า "สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ เทเวศรธำรงสุบริบาล อภิคุณูประการมหิตลาดุลเดช ภูมิพลนเรศวรางกูร กิตติสิริสมบูรณ์สวางควัฒน์ บรมขัตติยราชกุมาร"

เสด็จพระราชสมภพ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 เวลา 17:45 น. พระนาม "วชิราลงกรณ" นั้น สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ทรงตั้งถวาย มาจาก "วชิรญาณ" พระนามฉายาขณะผนวชในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผนวกกับ "อลงกรณ์"Ž จากพระนามในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

เมื่อมีพระชนมายุครบ 20 พรรษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โปรดให้สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ขึ้นเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2515 มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า 
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สิริกิตยสมบูรณสวางควัฒน์ วรขัตติยราชสันตติวงศ์ มหิตลพงศอดุลยเดช จักรีนเรศยุพราชวิสุทธิ สยามมกุฎราชกุมาร

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ มีพระทัยศรัทธาจะอุปสมบทในพระพุทธศาสนา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้ทรงผนวชในวันจันทร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2521 เวลา 15.00 น. ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) เป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และสมเด็จพระธีรญาณมุนี (ธีร์ ปุณฺณโก) ถวายอนุสาสน์ ผนวชแล้วเสด็จฯ ไปประทับ ณ พระตำหนักปั้นหย่า วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร พระมหารัชมงคลดิลก (บุญเรือน ปุณฺณโก) เป็นพระอภิบาล ผนวชอยู่ 15 วันจึงลาผนวช

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมที่ตั้งกองทหารหน่วยต่าง ๆ อยู่เสมอ จากการที่ได้ทรงศึกษาด้านวิชาทหารมานาน ทรงมีความรู้เชี่ยวชาญอย่างมาก และได้พระราชทานความรู้เหล่านั้นให้แก่ทหาร 3 เหล่าทัพ ทรงปฏิบัติพระองค์เป็นแบบอย่างแก่นายทหาร เอาพระทัยใส่ในความเป็นอยู่ทุกข์สุขของทหารผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาอย่างทั่วถึง รวมทั้งพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เป็นทุนการศึกษาแก่บุตรของทหาร สิ่งเหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดความเทิดทูนและความจงรักภักดีแก่เหล่าทหารเป็นอย่างยิ่ง

พระองค์พระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้อาคารของกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ เป็นที่ตั้งของโรงเรียนอนุบาลชิ่อว่า โรงเรียนอนุบาลทหารมหาดเล็กราชวัลลภ โดยในระยะแรกได้จัดการเรียนการสอนเฉพาะชั้นอนุบาล ต่อมา โรงเรียนได้ย้ายไปที่จังหวัดนนทบุรี และได้รับพระราชทานชื่อใหม่ว่า โรงเรียนอนุราชประสิทธิ์

นอกจากนี้ ยังพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สมทบเป็นค่าก่อสร้างโรงเรียนมัธยมศึกษาที่ตั้งอยู่ในชนบทห่างไกลคมนาคมไม่สะดวก กระทรวงศึกษาธิการได้สนองพระราชประสงค์ด้วยการน้อมเกล้าฯ ถวายโรงเรียนในระดับมัธยมศึกษาจำนวน 6 โรงเรียน

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
ทรงปลูกต้นปาริชาต ณ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยาวชนในตำบลต่าง ๆ ทรงสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์เยาวชนตำบล รวมทั้งได้ทรงเป็นประธานงานวันเยาวชนแห่งชาติ วันที่ 20 กันยายน ของทุกปี และทรงเป็นประธานในพิธีปฏิญาณตนและสวนสนามของลูกเสือและเนตรนารี และสมาชิกผู้ทำประโยชน์

ทั้งนี้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้อุปการะเด็กกำพร้า คือ จักรกฤษณ์ และอนุเดช ชูศรี ที่ครอบครัวเสียชีวิตจากภูเขาถล่มเมื่อปี พ.ศ. 2554 รวมทั้งครอบครัวของบูรฮาน และบุศรินทร์ หร่ายมณี ซึ่งบิดาถูกลอบสังหารจากเหตุความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจะทรงอุปการะจนกว่าจะสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีหรือจนกว่าจะมีอาชีพสามรถเลี้ยงครอบครัวได้

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงโปรดให้สร้างโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชขึ้น เพื่อให้การรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วยในถิ่นทุรกันดาร พระองค์ทรงเป็นองค์นายกกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช พระองค์ทรงมีพระราชปณิธานให้เอาใจใส่รักษาพยาบาลพสกนิกรของพระองค์ให้ปลอดภัยจากความเจ็บไข้โดยทั่วหน้าเสมอกัน

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์
ทรงประเคนผ้าไตร ประกาศนียบัตร และพัดยศ
ในการตั้งภิกษุ และ สามเณรเปรียญ
เนื่องในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล วิสาขบูชา
ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรม มหาราชวัง พ.ศ. 2551
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปปฏิบัติพระราชกิจทางพระพุทธศาสนาอย่างสม่ำเสม ทรงประเคนผ้าไตร ประกาศนียบัตร และพัดยศ ในการตั้งภิกษุ และ สามเณรเปรียญ เนื่องในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล วิสาขบูชา ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรม มหาราชวัง พ.ศ. 2551 ทรงแสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2509 ก่อนเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงทำปุ๋ยหมักจากผักตบชวาและวัชพืชอื่น ๆ เป็นปฐมฤกษ์ เพื่อพระราชทานแก่เกษตรกร สำหรับนำไปใช้ในการเพาะปลูกเป็นการเพิ่มผลผลิต ที่บ้านแหลมสะแก ต.เดิมบาง อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2528

วันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2554 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ โปรดให้ พล.อ.ท.ภักดี แสงชูโต นำผ้าห่มกันหนาว 20,000 ผืน ไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในโทโฮะกุ พ.ศ. 2554 ที่ประเทศญี่ปุ่น โดยมีนายกษิต ภิรมย์ เป็นผู้รับมอบ

ที่มา https://th.wikipedia.org

สืบสานตำนานเล่าขาน สยามมกุฎราชกุมาร เมืองไทย ตอนที่ 3 สืบสานตำนานเล่าขาน สยามมกุฎราชกุมาร เมืองไทย  ตอนที่ 3 Reviewed by bombom55 on 20:32 Rating: 5

ไม่มีความคิดเห็น:

ขับเคลื่อนโดย Blogger.